หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2559

การสงบศึกและยอมจำนน

การสงบศึกและการยอมจำนน




การล่มสลายของฝ่ายมหาอำนาจกลางมาเยือนอย่างรวดเร็ว บัลแกเรียเป็นประเทศแรกที่ลงนามการสงบศึก เมื่อวันที่ 29 กันยายน ค.ศ. 1918 ที่ซาโลนิกิ วันที่ 30 ตุลาคม จักรวรรดิออตโตมันยอมจำนนที่มูโดรส
วันที่ 24 กันยายน อิตาลีเริ่มการผลักดันซึ่งทำให้ได้รับดินแดนที่สูญเสียไปคืนหลังยุทธการคาปอเร็ตโต จนลงเอยในยุทธการวิตโตริโอ เวเนโต อันเป็นจุดจบที่กองทัพออสเตรีย-ฮังการีไม่อาจเป็นกำลังรบที่มีประสิทธิภาพได้อีกต่อไป การรุกนี้ยังกระตุ้นการสลายตัวของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ระหว่างสัปดาห์สุดท้ายของเดือนตุลาคม มีการประกาศเอกราชขึ้นในกรุงบูดาเปสต์ปราก และซาเกร็บ วันที่ 29 ตุลาคม ทางการออสเตรีย-ฮังการีขอสงบศึกกับอิตาลี แต่อิตาลีรุกคืบต่อไป โดยไปถึงเทรนโตยูดีนและตรีเอสเต วันที่ 3 พฤศจิกายน ออสเตรีย-ฮังการีส่งธงพักรบขอการสงบศึก เงื่อนไข ซึ่งจัดการโดยโทรเลขกับทางการฝ่ายสัมพันธมิตรในกรุงปารีส มีการสื่อสารไปยังผู้บัญชาการออสเตรียและยอมรับ การสงบศึกกับออสเตรียมีการลงนามในวิลลา กิอุสติ ใกล้กับพาดัว เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน ออสเตรียและฮังการีลงนามการสงบศึกแยกกันหลังการล้มล้างราชวงศ์ฮับส์บูร์ก
หลังการปะทุของการปฏิวัติเยอรมัน มีการสถาปนาสาธารณรัฐขึ้นเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน องค์ไกเซอร์ได้ทรงหลบหนีไปยังเนเธอร์แลนด์ วันที่ 11 พฤศจิกายน มีการลงนามการสงบศึกกับเยอรมนีขึ้นในตู้โดยสารรถไฟในคองเปียญ เมื่อเวลา 11 นาฬิกา ของวันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1918 หรือ "ชั่วโมงที่สิบเอ็ด ของวันที่สิบเอ็ด ของเดือนที่สิบเอ็ด" การหยุดยิงมีผลบังคับ กองทัพซึ่งประจัญกันอยู่บนแนวรบด้านตะวันตกนั้นเริ่มถอนจากตำแหน่งของตน พลทหารแคนาดา จอร์จ ลอว์เรนซ์ ไพรซ์ ถูกยิงโดยพลแม่นปืนชาวเยอรมันเมื่อเวลา 10.57 น. และสิ้นชีวิตเมื่อเวลา 10.58 น. เฮนรี กึนเธอร์ชาวอเมริกันถูกสังหาร 60 วินาทีก่อนการสงบศึกมีผลบังคับขณะเข้าตีกำลังพลเยอรมันที่รู้สึกประหลาดใจ เพราะทราบข่าวว่า กำลังจะมีการสงบศึกขึ้น ทหารอังกฤษคนสุดท้ายที่เสียชีวิต คือ พลทหารจอร์จ เอ็ดวิน เอลลิสัน ผู้เสียชีวิตคนสุดท้ายในสงคราม คือ ร้อยโทโธมัส ผู้ซึ่ง หลังเวลา 11 นาฬิกา กำลังเดินไปยังแนวรบเพื่อแจ้งข่าวแก่ทหารอเมริกันซึ่งยังไม่ถูกแจ้งข่าวการสงบศึกว่า พวกเขาจะละทิ้งอาคารเบื้องหลังพวกเขา
สถานะสงครามอย่างเป็นทางการระหว่างทั้งสองฝ่ายดำรงอยู่เป็นเวลาอีกจนเดือน กระทั่งการลงนามสนธิสัญญาแวร์ซายกับเยอรมนีเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1919 สนธิสัญญากับออสเตรีย ฮังการี บัลแกเรียและจักรวรรดิออตโตมันมีการลงนามภายหลัง อย่างไรก็ดี การเจรจากับจักรวรรดิออตโตมันนั้นตามมาด้วยการขัดแย้งกัน และสนธิสัญญาสันติภาพสุดท้ายระหว่างฝ่ายสัมพันธมิตรกับประเทศซึ่งอีกต่อมาไม่นานจะได้ชื่อว่า สาธารณรัฐตุรกี มีการลงนามเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม ค.ศ. 1923 ที่โลซาน
ในทางกฎหมาย สนธิสัญญาสันติภาพอย่างเป็นทางการไม่เสร็จสมบูรณ์กระทั่งมีการลงนามในสนธิสัญญาโลซานฉบับสุดท้าย ภายใต้เงื่อนไขนั้น กองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรถอนออกจากคอนสแตนติโนเปิลเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ค.ศ. 1923

ความได้เปรียบของฝ่ายสัมพันธมิตรและตำนานแทงข้างหลัง พฤศจิกายน ค.ศ. 1918

ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1918 ฝ่ายสัมพันธมิตรมีกำลังบำรุงที่เป็นคนและยุทโธปกรณ์มากพอที่จะรุกรานเยอรมนี กระนั้น เมื่อมีการสงบศึกนั้น ไม่มีกำลังฝ่ายสัมพันธมิตรใดข้ามพรมแดนเยอรมนีได้เลย แนวรบด้านตะวันตกยังอยู่ห่างจากกรุงเบอร์ลินเกือบ 1,400 กิโลเมตร และกองทัพเยอรมันยังล่าถอยจากสนามรบอย่างเป็นระเบียบดี ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้ฮินเดนบูร์กและผู้นำเยอรมันอาวุโสคนอื่น ๆ เผยแพร่เรื่องเล่าว่า กองทัพของพวกเขามิได้ถูกเอาชนะอย่างแท้จริง ซึ่งต่อมาได้เกิดเป็นตำนานแทงข้างหลัง คือ ถือว่าความพ่ายแพ้ของเยอรมนีนั้นมิได้เกิดจากการขาดความสามารถในการสู้รบต่อไป (แม้ทหารมากถึงหนึ่งล้านนายกำลังเจ็บป่วยจากการระบาดของไข้หวัดใหญ่ ค.ศ. 1918 และไม่พร้อมรบ) แต่เป็นเพราะสาธารณชนขาดการสนองต่อ "การเรียกด้วยความรักชาติ" และการก่อวินาศกรรมอย่างเจตนาต่อความพยายามของสงคราม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พวกยิว สังคมนิยมและบอลเชวิค

บทความที่เกี่ยวข้อง

แผนผังการเกิดสงคราม

สงครามโลกครั้งที่ 1 คืออะไรและสาเหตุของสงคราม

ชนวนของสงครามโลกครั้งที่ 1

เบื้องหลังสงครามโลกครั้งที่ 1

เส้นทางของสงครามโลกครั้งที่ 1

เทคโนโลยีต่างๆ ในสงครามโลกครั้งที่ 1

ภายหลังสงคราม และประเทคไทยกับสงครามโลกครั้งที่ 1

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น